ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.93 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในตลาดการเงินพลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงได้อีกครั้ง หลังจากที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ประกาศเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษระยะยาวแบบไม่จำกัดจำนวน เพื่อลดความผันผวนในตลาดบอนด์อังกฤษ ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี อังกฤษ (Gilt-10y) ปรับตัวลดลงกว่า 50bps สู่ระดับ 4.01% และยังส่งผลให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวทั่วโลกต่างปรับตัวลดลงตาม โดยในฝั่งสหรัฐฯ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวลงกว่า 28bps สู่ระดับ 3.73% ซึ่งการปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ผู้เล่นในตลาดกลับเข้าซื้อหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อีกครั้ง (Meta +5.4%, Amazon +3.2%, Alphabet +2.6%) ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้นกว่า +2.05% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.97%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.30% หลังจากที่ในช่วงแรกตลาดปรับตัวลงแรงจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักและวิกฤตพลังงานในยุโรป จนกระทั่งตลาดตอบรับการประกาศเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของ BOE ทำให้ตลาดทยอยปรับตัวดีขึ้น ซึ่งคาดว่า อานิสงส์ของการปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วของบอนด์ยีลด์ในฝั่งยุโรป อาจช่วยหนุนให้ผู้เล่นในตลาดกลับเข้ามาซื้อหุ้นเทคฯ อย่าง ASML, Adyen ซึ่งจะช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นยุโรปมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ในวันนี้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวผันผวน ก่อนที่จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) พลิกกลับมาปรับตัวลดลงสู่ระดับ 112.6 จุด (-1.8%) หลังจากที่ตลาดการเงินพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยง ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรเงินดอลลาร์ออกมาบ้าง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) รวมถึงเงินยูโร (EUR) กว่า +1.5% หลังจากที่ BOE ประกาศเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษแบบไม่จำกัดจำนวนและช่วยฟื้นความเชื่อมั่นให้กับตลาดการเงิน อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรติดตามผลกระทบของมาตรการดังกล่าว ควบคู่ไปกับท่าทีของรัฐบาลอังกฤษว่าจะมีการปรับเปลี่ยนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนการลดภาษี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลอังกฤษให้กลับมาได้หรือไม่ เพราะหากรัฐบาลอังกฤษยังยืนกรานใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว ก็มีโอกาสที่มาตรการลดความผันผวนของตลาดการเงินโดย BOE อาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะหยุดการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์อังกฤษและหยุดการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์ได้ ทั้งนี้ การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้น +2.6% กลับสู่ระดับ 1,666 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งหากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ใกล้โซนแนวต้านแถว 1,680-1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจเริ่มเห็นแรงขายทำกำไรการรีบาวด์ออกมาบ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรดังกล่าวก็มีส่วนที่จะช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้

สำหรับวันนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของเวียดนาม อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ซึ่งตลาดมองว่า อาจขยายตัวต่อเนื่องกว่า +60%y/y ตามการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งภาพดังกล่าวจะยังคงหนุนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามที่มีโอกาสโตกว่า +8%y/y ได้ในปีนี้ และหากข้อมูลเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาดเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยง ก็อาจช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นเวียดนาม (ดัชนี VN Index) สามารถรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับได้เช่นกัน

นอกเหนือจากผลการประชุม กนง. ตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดโดยเฉพาะประธานเฟด Powell (รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อย่าง Bostic, Bowman และ Daly) เพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่นๆ อาทิ Bullard ได้ออกมาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ในวันก่อนหน้า (ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันให้ตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงและผันผวนต่อเนื่อง)

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า จุดกลับตัวของเงินดอลลาร์ยังคงไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ หากตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ทำให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าและอาจทดสอบโซนแนวต้าน 38.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยเราประเมินว่า มีโอกาสที่ในวันนี้ เงินบาทอาจอ่อนค่าทะลุระดับ 38.00 บาทต่อดอลลาร์ ขึ้นไปทดสอบโซนแนวต้านถัดไปแถว 38.20 บาทต่อดอลลาร์ได้ หาก กนง. มีมติขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่เราคาด ในขณะที่ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังให้ กนง. เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท

นอกจากนี้ แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าของเงินบาท จากการขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติอาจยังดำเนินต่อไปในช่วงนี้ หลังจากที่ดัชนี SET ได้ปรับตัวลดลงหลุดแนวรับสำคัญลงมา (จับตาโซนแนวรับที่ 1,600 จุด ว่าดัชนี SET จะสามารถรีบาวด์ขึ้นมาได้หรือไม่) ขณะเดียวกัน บอนด์ยีลด์ระยะยาวของไทยก็ปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์ในตลาดโลก ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติเดินหน้าเทขายบอนด์ระยะยาวต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 กว่า 8.4 พันล้านบาท

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า เงินบาทได้อ่อนค่าลงมาพอสมควร เมื่อพิจารณาจากดัชนีเงินบาทที่แท้จริง (REER) โดยปัจจุบัน Z-score ของดัชนีเงินบาท REER อยู่ที่ระดับ -1.77 จากข้อมูลในรอบกว่า 20 ปี ซึ่งปกติเงินบาทมักจะเริ่มแกว่งตัว sideways และพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง เมื่อ Z-Score ใกล้ระดับ -2.0 ทำให้เราประเมินว่า หากค่าเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 38.00 บาทต่อดอลลาร์ ก็มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องไปถึงโซน 38.50-38.75 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าขายทำกำไรของผู้เล่นต่างชาติ (เป้าขายทำกำไร 4%-5% จากจุด break out ที่ 37.00 บาทต่อดอลลาร์)

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.90-38.20 บาท/ดอลลาร์

Leave a comment