เมื่อวันที่ 28 ก.ย. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พร้อมด้วย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ร่วมการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (ส่วนล่วงหน้า) ผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (VCS) ณ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดอุบลราชธานี และเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นโนรู และในจังหวัดที่อาจได้รับผลกระทบ โดยมี นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เข้าร่วมประชุม และนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ VCS

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เนื่องจากสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ไม่สามารถเดินทางได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนเส้นทางการบินมาร่วมประชุมที่ จ.พิษณุโลกแทน จากสถานการณ์ฝนตกหนักในห้วงที่ผ่านมา ได้รับอิทธิพลปกคลุมด้วยร่องมรสุม และหย่อมความกดอากาศต่ำ ประกอบกับพายุไต้ฝุ่นโนรูได้เคลื่อนขึ้นฝั่ง บริเวณเมืองฮอยอัน ประเทศเวียดนามแล้ว มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 70 กิโลเมตร ทางตะวันออกของแขวงเซกอง สปป.ลาว ทำให้ลุ่มน้ำในหลายพื้นที่ เช่น ลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี จ.ขอนแก่น และ จ.อุบลราชธานี ลุ่มน้ำแควน้อย จ.พิษณุโลก ลุ่มน้ำลำตะคอง จ.นครราชสีมา มีสถานการณ์น้ำในปริมาณที่มาก ส่งผลกระทบมายังพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี จ.นครนายก รวมถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับผลกระทบไปแล้วบางส่วนแล้ว และได้มีการเร่งระบายน้ำ พร้อมทั้งมีการพร่องน้ำเพื่อเตรียมรับสถานการณ์แล้ว

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายรัฐมนตรี รักษาราชการแทน นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชน ซึ่งจากการรับฟังสถานการณ์น้ำในภาพรวมจาก จ.อุบลราชธานี จ.พิษณุโลก จ.นครราชสีมา และจ.ขอนแก่น การประเมินสถานการณ์น้ำจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมจากหน่วยงานในพื้นที่ ทำให้ทราบว่า สถานการณ์ขณะนี้ไม่เป็นที่น่ากังวล แต่จำเป็นจะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ที่ได้รับอิทธิพลจากพายุไต้ฝุ่นโนรู อาจทำให้มีปริมาณน้ำที่มาก จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เตรียมความพร้อมรับมือและประเมินสถานการณ์ พร้อมติดตามสถานการณ์สภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หากเกิดภัยให้เร่งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมความพร้อมการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำ และพื้นที่รับน้ำ และรายงานสถานการณ์มายังจังหวัด เพื่อให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เตรียมการให้สอดคล้องกัน แจ้งเตือนประชาชน การเก็บรักษาทรัพย์สิน ยกของขึ้นที่สูง กั้นกระสอบทราย การอำนวยความสะดวกเรื่องการสัญจรในพื้นที่อุทกภัย และการตรวจสอบพื้นที่จุดเสี่ยงไฟฟ้ารั่วไหล

นอกจากนั้น ให้ฝ่ายปกครองในพื้นที่รีบแจ้งการไฟฟ้าภูมิภาค สาขา เพื่อตัดไฟ และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ถูกกระแสไฟฟ้าช็อต รวมถึงการระดมสรรพกำลัง ทหาร ตำรวจ บุคลากรทางการแพทย์ ฝ่ายปกครอง การประปาส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันจัดตั้งศูนย์พอพยพ หรือศูนย์พักพิง (ชั่วคราวโรงครัวพระราชทาน และสนับสนุนในด้านอื่น ๆ อาทิ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถุงยังชีพจากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เพื่อให้ความช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชน มีอาหาร น้ำดื่ม และที่อยู่อาศัย สามารถดำรงชีพได้ และขอขอบคุณทุกภาคส่วน พร้อมทั้งให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับ รวมถึงพี่น้องประชาชน ทางรัฐบาลมีความเป็นห่วงและเป็นกังวลต่อสถานการณ์ซึ่งหากต้องการรับความช่วยเหลือรีบขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือทันที หรือสามารถโทรมาที่สายด่วนนิรภัย 1784 โทรฟรี 24 ชั่วโมง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ส่วนกลางช่วยประสานงานให้ความช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้ ในช่วงบ่าย คณะเดินทางจะลงพื้นที่ เยี่ยมเยียนให้กำลังใจประชาชน ที่บ้านบังบอน บ้านคลองจระเข้ และเยี่ยมญาติผู้เสียชีวิต จากเหตุอุทกภัยที่บ้านวังพรม อ.วังทอง ต่อไป

ด้าน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบล กล่าวว่า จากสถานการณ์มรสุมพาดผ่านทำให้จังหวัดอุบลราชธานีมีปริมาณน้ำสะสมในพื้นที่จำนวนมาก มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 14 อำเภอ มีชุมชนได้รับผลกระทบ 472 ชุมชน ซึ่งมีชุมชนที่ต้องอพยพมาอยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราว จำนวน 40 ศูนย์แล้ว จำนวน 44 ชุมชน ประมาณ 4,100 คน ขณะนี้ สถานการณ์แม่น้ำมูล และน้ำชี ไหลมารวมกันที่ อ.เมือง และ อ.วารินชำราบ โดยอัตราการไหลของน้ำเกินศักยภาพแล้ว มีอัตราการของปริมาณน้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขงมากถึง 3,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่เป็นความโชคดีที่ระดับน้ำโขงต่ำกว่าระดับพื้นผิวประมาณ 1 เมตร ทำให้สามารถเร่งระบายน้ำได้ดี

ทั้งนี้ จ.อุบลราชธานีต้องเร่งระบายน้ำลงแม่โขงโดยเร็วที่สุด เพื่อเตรียมรับสถานการณ์อิทธิพลจากพายุไต้ฝุ่นโนรู โดยได้ทำการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ทั้ง 8 ประตูระบายน้ำ พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่ใต้สะพานพิบูลมังสาหาร 170 เครื่อง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่แก่งสะพือ จำนวน 10 เครื่อง นอกจากนี้ จังหวัดอุบลราชธานีได้ จัดทำแผนเผชิญเหตุ และมีการเตรียมความพร้อมเครื่องมือ เครื่องจักร เพื่อบรรเทาอุทกภัยแล้วกว่า 1,600 รายการ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการแจ้งเตือนภัยแก่พี่น้องในประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด