ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า ปฏิบัติการพาโขลงช้างป่านับร้อยตัวที่พากันมาอาศัยอยู่ภายในบริเวณป่าชุมชนเขาประดู่ที่ตำบลจระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ห่างจากแหล่งชุมชนประมาณ 4 กิโลเมตร เพื่อให้กลับเข้าสู่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา ผ่านไป 5 วันก็ยังไม่สามารถที่จะพาช้างที่มีนับร้อยตัวกลับเข้าสู่ป่าได้ทั้งหมด โดยทางนายประพัฒน์พงษ์ สุขุประการ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ยืนยันว่า จากการปฏิบัติการเมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่สามารถพาช้างกลับเข้าสู่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลานอยู่ห่างจากจุดที่โขลงช้างรวมตัวกันประมาณ 5 กิโลเมตรได้แล้วจำนวน 54 ตัว และยังคงมีส่วนหนึ่งที่อาจยังคงหลับซ่อนอยู่ในบริเวณจุดเดิม

ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 กันยายน นายพีรวัฒน์ ธีระวัฒนา นายอำเภอครบุรี พร้อมด้วย นายประพัฒน์พงษ์ สุขุประการ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 กันยายนได้ทำการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานเริ่มปฏิบัติการใหม่อีกครั้งตั้งแต่ช่วงเช้า โดยกระจายกำลังกว่า 40 นาย ล้อมรอบจุดที่คาดว่าช้างจะยังหลบซ่อนตัวอยู่ ก่อนจะใช้โดรนจับภาพความร้อนขึ้นบินสำรวจและระบุจุดซ่อนตัวของช้างป่า ใช้เวลาตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเวลา 14.30 น. ก็ไม่พบตัว ทางเจ้าหน้าที่ประเมินว่าช้างอาจจะหวาดระแวงและพากันหลบซ่อนตัวในป่าทึบ และเนื่องจากเป็นช่วงเวลากลางวันอีกทั้งยังมีต้นไม้ใหญ่อยู่ค่อนข้างหนาแน่น ทำให้โดรนไม่สามารถจับภาพช้างป่าได้ แต่หลังแสกนพื้นที่โดยรอบทั้งหมดกระทั่งไปพบร่องรอยโขลงช้างป่าจำนวนมาก ลงจากเขาที่มีลักษณะค่อนข้างสูงชัน จึงติดตามร่องรอยไปและพบว่าช้างส่วนที่เหลือส่วนใหญ่จะกลับเข้าสู่อุทยานแห่งชาติทับลานแล้ว

จากนั้นในช่วงเย็นวันที่ 9 ก.ย.65 ทางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน พร้อมทีมร่วมปฏิบัติการ ได้ร่วมกันสรุปผลการปฏิบัติภารกิจได้ว่า ช้างทั้งหมดซึ่งคาดว่าจะมีมากกว่า 100 ตัว ได้กลับเข้าสู่เขตอุทยานแห่งชาติทับลานเกือบทั้งหมดแล้ว จึงได้ตัดสินใจที่จะยกเลิกปฏิบัติการ แต่ยังคงวางกำลังเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งไว้คอยเฝ้าจุดที่คาดว่าช้างอาจจะกลับเข้ามาในพื้นที่อีกครั้งเพื่อความมั่นใจกับประชาชน และหลังจากนี้ทางนายอำเภอครบุรี จะได้เชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เข้าร่วมประชุมหารือวางแผนการป้องกันปัญหาช้างป่าออกมาทำลายผลผลิตของชาวบ้านทั้งในกรณีเร่งด่วน ซึ่งอาจจะต้องจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือมาแจ้งเตือนและป้องกันไม่ให้ช้างกลับเข้าไปสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และการจัดการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป

อย่างไรก็ตามทุกคนเห็นตรงกันว่า การรวมตัวของโขลงช้างนับร้อยตัวครั้งนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีใครพบเห็นมาก่อนกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำอย่างยิ่ง
///////
ข่าว/ภาพ : ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ ,มูลนิธิพุทธธรรม ฮุก 31 นครราชสีมา