ศาลรธน.แถลงยัน ประชุมคณะตุลาการ 8 ก.ย.ยังไม่ถึงขั้นลงมติปม 8 ปี ประยุทธ์ ยังอยู่ในขั้นพิจารณาหลักฐาน คำชี้แจงว่าพอจะตัดสินได้หรือไม่หรือต้องแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมกฎหมาย รับเอกสารมีชัยหลุดโซเชียลสั่งสอบข้อเท็จจริง
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2565 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ “วาระพิเศษ” ในวันที่ 8 ก.ย. 2565 เพื่อพิจารณาพยานหลักฐาน และคำชี้แจง กรณีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายเชาวนะ กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีการรับคำร้องกรณี พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. และดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาตามลำดับขั้นตอนมาโดยลำดับ เป็นการดำเนินการที่อยู่ระหว่างกระบวนการวิธีพิจารณา การที่ศาลได้มีการนัดประชุมในวันที่ 8 ก.ย. 2565 ไม่ได้เป็นเรื่องที่ถือว่าศาลไปเร่งเวลา หรือทำให้เวลามันช้าลงแต่อย่างใด
“ขอเรียนว่า ขั้นตอนต่าง ๆ ที่ศาลดำเนินการมาโดยตลอด ตามขั้นตอน กระบวนการพิจารณาของศาลเป็นปกติ แต่ถามว่า คดีนี้มีความสำคัญหรือไม่ ถือว่ามีความสำคัญ ศาลให้ความสำคัญ แต่ไม่ได้เร่งรัด หรือทำให้ช้า หรือดำเนินการโดยที่ลัดขั้นตอนแต่อย่างใด” นายเชาวนะ กล่าว
เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการในวันที่ 8 ก.ย.จะมีผลเป็นอย่างไร ศาลจะมีข่าวสารให้เพิ่มเติมต่อไป แต่ในวันนี้ขอเรียนว่า ตามที่มีข่าวสารเกี่ยวเนื่องกับการนัดประชุมในวันพรุ่งนี้ จะมีผลออกมาเป็นเสียงข้างมาก ข้างน้อย เท่านั้นเท่านี้ ขอเรียนว่า โดยกระบวนการยังไม่ไปถึงขั้นนั้น ยังไม่ถึงขั้นจะทราบได้ว่า มติจะเป็นอย่างไร เพราะขั้นตอนของการพิจารณาในวันพรุ่งนี้ เป็นเพียงการนำข้อมูลข่าวสาร พยานหลักฐานที่ศาลขอมาจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย มีความเพียงพอที่จะพิจารณา และนำไปสู่การวินิจฉัยต่อไปได้หรือไม่
“การที่มีข่าวในทำนองว่า จะมีการนัดฟังคำวินิจฉัยในอีก 15 วัน หรืออย่างไรนั้น ยังไม่มี เงื่อนไขของการนัดเวลาที่จะอ่านคำวินิจฉัย เพราะลำดับขั้นตอนเมื่อศาลพิจารณาพยานหลักฐานที่ได้มาแล้ว จะมีการอภิปรายว่า อยู่ในชั้นที่พอพิจารณา ตัดสินได้หรือไม่ ถ้ายังไม่พอ ในกระบวนวิธีพิจารณา ศาลจำเป็นต้องแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมกฎหมาย เช่น ขอพยานเอกสารจากบุคคล หรือขอให้บุคคลมาให้ถ้อยคำก็ได้ หรือขอให้หน่วยงานราชการ โดยการที่มีการกำหนดเรื่องผลการพิจารณาเป็นกี่เสียง หรือกำหนดวันหนึ่งวันใด กราบเรียนว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น” นายเชาวนะ กล่าว
นายเชาวนะ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญวันนี้ที่ต้องขอความช่วยเหลือ ความร่วมมือจากสื่อคือ กรณีมีข่าวว่า มีหนังสือที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้หลุด หรือรั่วไปถึงสื่อโซเชียล ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญ (นายวรวิทย์ กังศศิเทียม) ให้ความสำคัญ และกังวลเป็นอย่างมาก เนื่องจากนอกจากจะต้องติดตามต่อไปว่า เป็นเอกสารที่มาที่ไปอย่างไรแล้ว ยังกังวลจากเหตุที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ความเห็นนั้น และมีการพาดพิงกระทบผู้เกี่ยวข้องส่วนต่าง ๆ ท่านประธานเห็นว่า ควรกราบเรียนสื่อให้ทราบว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้นิ่งนอนใจและให้ดำเนินกระบวนการตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริงต่อไป และมีความเสียใจว่าหลุดอย่างไร แต่กระทบต่อผู้ให้ความเห็น มีการพาดพิงคู่ความในส่วนต่าง ๆ ของคดีด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะตรวจสอบว่ามีเอกสารความเห็นของนายมีชัยหลุดได้อย่างไร นายเชาวนะ กล่าวว่า เนื่องจากเอกสารที่ว่าระบุว่า เป็นความเห็นของนายมีชัย ถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในข้อเท็จจริงศาลได้มีการขอเอกสารความเห็นไปจริง แต่เอกสารที่รั่วไหลไป เนื่องจากมีการอ้างว่าเป็นเอกสารที่นายมีชัยส่งให้ศาล มีความจำเป็นที่ศาลต้องตรวจสอบด้วย
“เบื้องต้น เพื่อให้เห็นว่าในทางปฏิบัติ มาตรการต่าง ๆ ที่เรากำหนด ควบคุมไว้ทุกขั้นตอน มีข้อบกพร่องที่จะทำให้เกิดเหตุเช่นนั้นได้หรือไม่ ส่วนว่าจะเป็นจริงหรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องที่หลัง แต่ในชั้นต้น การตรวจสอบเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับเอกสารในสำนวนคดี ศาลต้องตรวจสอบด้วย หมายถึงการตรวจสอบในชั้นธุรการ ไม่ใช่เรื่องการพิจารณาคดี” นายเชาวนะ กล่าว
เมื่อถามว่า เอกสารความเห็นของนายมีชัย ที่หลุดในโซเชียลมีเดียเป็นของจริงหรือไม่ นายเชาวนะ กล่าวว่า ยังยืนยันไม่ได้ เพราะเห็นแบบเดียวกับสื่อ เห็นในโซเชียล
นายเชาวนะ กล่าวด้วยว่า เรื่องเวลากฎหมายกำหนดไว้ในคดีบางเรื่อง เช่น กฎหมายงบประมาณ พ.ร.ก. ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เป็นต้น คดีเหล่านี้จะกำหนดกรอบเวลาเฉพาะเจาะจง 15-20 วัน แต่คำร้องลักษณะของวาระดำรงตำแหน่ง ไม่มีกำหนดเงื่อนไขเวลา แต่ขั้นตอนการพิจารณาคดีมีกำหนดเวลาไว้อยู่ โดยตามขั้นตอนกระบวนการพิจารณา ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการปรึกษาหารือ และลงมติ ปกติคำร้องที่มีคู่กรณี ตามประเพณีปฏิบัติ ศาลจะลงมติกันในรุ่งเช้า และอ่านในช่วงบ่ายหรือเย็นวันเดียวกัน การที่ศาลจะอ่าน ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ระหว่างไต่สวน ศาลจะนัดล่วงหน้า โดยมีกรอบเวลาขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 7 วัน ให้คู่ความมาฟัง
“ในการพิจารณาศาลสามารถแจ้งคู่กรณีในการไต่สวนครั้งหลังสุดได้เลยว่า จะให้มาฟังเมื่อไหร่อย่างไร แต่ ณ เวลานี้การไต่สวนยังไม่มี ถ้าศาลจะนัด ศาลจะนัดตามเกณฑ์ของกฎหมายคือ ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 7 วัน” นายเชาวนะ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การนัดแถลงข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากก่อนหน้านี้ได้มีรายงานว่าศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการเรียกประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดพิเศษ ในวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน เพื่อพิจารณาคดีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 6 กันยายน ยังมีเอกสารที่ระบุว่า เป็นคำชี้แจงของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หลุดออกมาทางโซเชียลมีเดีย โดยระบุตอนหนึ่งถึงวาระการเป็นนายกฯ นับตั้งแต่ 6 เมษายน 2560