เมื่อวันที่ 3 กันยายน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สถาบันอาหาร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดตัวโมเดลพัฒนาชุมชนโครงการ Local X ภายใต้คอนเซ็ปต์ Collaboration จับคู่พาทเนอร์ที่ใช่ทำงานร่วมกับชุมชน สร้างสรรค์สินค้าท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ พร้อมคู่ค้าร่วมทำตลาดแบ่งปันประโยชน์ที่เป็นธรรมร่วมกันกับชุมชนบ้านไร่กร่าง เปิดตัวท่องเที่ยวชุมชน สร้างแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน ณ ชุมชนบ้านไร่กร่าง ตำบลไร่สะท้อน อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี

ทั้งนี้ การเปิดตัวท่องเที่ยวชุมชนสร้างแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนในวันนี้ ได้มีกลุ่มเด็กๆนักเรียน เข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิต ของชาวชุมชนบ้านไร่กร่าง อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เช่น การทำน้ำตาลโตนด การทำขนมตาล การทำขนมบัวลอยจากลูกตาล สร้างความสนใจให้กับเด็กๆ และเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้อย่างมากมาย เด็กๆทุกคนมีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ วิถีชีวิตชุมชนของคนบ้านไร่กร่าง
นายคมกริช ด้วงเงิน รองผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการโลคอล เอกซ์ (Local X) เกิดขึ้นจากแนวคิดที่จะพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วยโมเดลการสร้างหุ้นส่วนความสำเร็จ สรรหาพาทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มา Collaborate ร่วมคิดร่วมทำกับชุมชน ตั้งแต่การร่วมคิด ร่วมพัฒนาสินค้าท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้ชุมชนไปจนถึงการดำเนินธุรกิจจริง ๆ รวมทั้งการทำตลาด การขาย จับมือกันกับชุมชนในฐานะพาทเนอร์ ทำงานร่วมกันไปตลอดทาง และแบ่งปันประโยชน์ที่เป็นธรรมร่วมกันสำหรับทุกฝ่ายนี่คือหัวใจของความยั่งยืน

สำหรับ ชุมชนในพื้นที่เพชรบุรี ชุมชนบ้านไร่กร่าง ได้รับการคัดเลือกด้วยเหตุผลที่สำคัญคือเป็นชุมชนที่มีความพร้อมด้วยทัศนคติที่เปิดกว้างพร้อมเรียนรู้ พร้อมพัฒนาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานในโครงการฯ นี้ โดยที่ผ่านมาพบว่าผลลัพธ์ของการทำงานร่วมกับพาทเนอร์มาหลายเดือน จนในที่สุดวันนี้ชุมชนบ้านไร่กร่าง ก็ได้มีสินค้าท่องเที่ยวใหม่ ในรูปแบบของ School & Family Outing แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนสำหรับเด็กประถมศึกษา ซึ่งได้พาทเนอร์ จากโรงเรียนดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมาออกแบบกิจกรรมให้ ในส่วนของผลิตภัณฑ์ใหม่ของชุมชนได้พาทเนอร์จากสถาบันอาหารมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ชูการ์ตาล น้ำตาลโตนดผง 100% ซึ่งเป็นวัตถุดิบคุณภาพดีของชุมชน และยังมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ องค์การมหาชน ได้มาช่วยออกแบบโลโก้ พร้อมบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ
นายคมกริช กล่าวว่า จากวันนี้ก็จะมีพาทเนอร์จากกิจการเพื่อสังคม ฟายด์ โฟล์ค และ ไฟด์ ฟู้ด ที่มาช่วยประสานในการ กิจกรรมท่องเที่ยว และการต่อยอดตลาดผลิตภัณฑ์ เพื่อพัฒนายกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตแบบ Exponential ยกกำลังทวีคูณ โดยการนำแนวคิด Collaboration สร้างโมเดลหุ้นส่วนความส าเร็จระหว่างพาร์ทเนอร์ภาครัฐ ภาคเอกชน มาทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ชุมชนใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยสร้างรายได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง และยั่งยืน

ด้าน นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีหน้าที่สืบสานรักษาและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมให้ยั่งยืน ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายร่วมกันทำงานกับทุกภาคส่วน ไม่ใช่ทำคนเดียว หรือต่างคนต่างทำ เพื่อความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ การขับเคลื่อนงานส่งเสริมวัฒนธรรมยุคใหม่นี้ ต้องทำให้วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ต่อยอดได้ เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือตลาดใหม่ ๆ ได้ ดังเช่นการพัฒนาชุมชนบ้านไร่กร่าง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนสำหรับเด็ก เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น ได้สัมผัสวิถีชีวิตชนบทที่เด็กในเมืองไม่มีโอกาสได้รู้จัก โมเดลนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน สำหรับกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ในส่วนของการพัฒนาชูการ์ตาล น้ำตาลโตนดผง 100% ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการต่อยอดยกระดับทุนทางวัฒนธรรมชุมชนโดยใช้เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาดคนรุ่นใหม่
นายประสงค์ หอมรื่น ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านไร่กร่าง กล่าวว่า ชุมชนบ้านไร่กร่างอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นตาลและต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะต้นกร่างซึ่งเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน คนในชุมชนส่วนใหญ่นั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรม และมีรายได้จากการทำน้ำตาลโตนด อยากเชิญชวนโรงเรียนในกรุงเทพฯ และจัดหวัดใกล้เคียง พาเด็กมาเที่ยวชุมชนบ้านไร่กร่าง ขุมทรัพย์ความหวานของน้ำตาลโตนดแห่งเมืองเพชรบุรี เด็ก ๆ จะได้สัมผัสธรรมชาติ เรียนรู้วิถีคนตาลโตนด ทำขนมจากตาลโตนด และสนุกกับการทำของเล่นจากธรรมชาติด้วยตัวเอง เด็ก ๆ จะได้ประสบการณ์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่หาไม่ได้จากในรั้วโรงเรียน ได้รู้จักวัฒนธรรม ประเพณีต่าง ๆ ในท้องถิ่น ได้พัฒนาทักษะทางการสื่อสาร สังคม และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นซึ่งล้วนเป็นทักษะแห่งอนาคตทั้งสิ้น ซึ่งได้จัดให้มี 4 กิจกรรมแห่งการเรียนรู้ สำหรับเด็กขึ้นมา เช่น ทุ่งนาป่าตาล สนามทดลองความหวานกลางธรรมชาติ ทำความรู้จักต้นตาลโตนด วิธีทำน้ำตาลโตนด ทำขนมตาลจากลูกของต้นตาลโตนดสุกๆ นอกจากนี้แล้ว ยังเปิดโอกาสให้เด็กๆได้มีโอกาสกอนอาหารกลางวัน ได้ลิ้มรสอาหารแบบวิถีคนเพชรบุรีและยังให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการทำขนมบัวลอยจากลูกตาลโตนดสุกอีกด้วย

